วิชาก้าวทันโลกศึกษา 2 ส 31222 หน่วย 3 กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน
การเกิด
การเกิดเป็นจุดเริ่มต้นของสภาพบุคคล และเป็นจุดเริ่มต้นที่กฎหมายเข้ามามีบทบาท เมื่อมีเด็กเกิดในครอบครัว กฎหมายได้กำหนดหน้าที่ที่จะต้องแจ้งการเกิดดังต่อไปนี้
๑. กรณีเด็กเกิดในบ้าน เมื่อหญิงตั้งครรภ์ และได้คลอดลูกในบ้านของตนเอง ผู้มีหน้าที่แจ้งเด็กเกิดคือ "เจ้าบ้าน" หรือตามกฎหมายก็คือ ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัว อาจจะเป็นผู้อยู่ในฐานะเจ้าของบ้าน หรือหากเช่า บ้านคนอื่น ก็คือผู้อยู่ในฐานะผู้เช่า หรือผู้อยู่ในฐานะอื่นๆ อย่างเช่น กรณี ที่เจ้าของบ้านยกบ้านให้อยู่ฟรีๆ ผู้ที่ได้รับการยกให้อยู่ก็เป็นเจ้าบ้านได้เหมือนกัน นอกจากเจ้าบ้านแล้ว บิดา หรือมารดาของเด็กเป็นผู้มีหน้าที่แจ้ง เช่นเดียวกันการแจ้งการเกิดนี้จะต้องแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ที่เด็กเกิดภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่เกิด เช่น เด็กเกิดวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๓๐ ก็จะต้อง แจ้งภายใน ๑๕ วัน คืออย่างช้าวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๓๐ หรือถ้าเด็กเกิด วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๓๐ จะต้องแจ้งอย่างช้าวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ เป็นต้นส่วนนายทะเบียนท้องที่ที่เกิดนั้น แยกไว้ ๒ กรณี
(๑) หากท้องที่นั้นอยู่ในเขตเทศบาล นายทะเบียนที่จะรับแจ้งการ เกิด ได้แก่ ปลัดเทศบาล ณ ที่ทำการเทศบาล
(๒) หากท้องที่นั้นอยู่นอกเขตเทศบาล นายทะเบียนที่จะรับแจ้ง การเกิด ได้แก่ กำนัน ณ ที่ทำการกำนัน
๒. กรณีเด็กเกิดนอกบ้าน การเกิดนอกบ้าน คือ เกิดในที่ใดๆ ก็ตามที่ไม่ใช่บ้านของตน เช่น เกิดที่บ้านของญาติ หรือในป่า ผู้ที่มีหน้าที่ แจ้งการเกิด คือ บิดาหรือมารดาของเด็ก โดยต้องแจ้งแก่นายทะเบียน ท้องที่ที่คนเกิดนอกบ้าน หรือท้องที่ที่จะพึงแจ้งได้นับแต่วันที่เกิด ซึ่งหมาย ความว่า เมื่อเด็กเกิดแล้ว บิดาหรือมารดาจะต้องแจ้งภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่เกิด แต่หากไม่สามารถแจ้งแก่นายทะเบียนในท้องที่ที่เด็กเกิดได้ ภายใน ๑๕ วัน เช่น เกิดน้ำท่วมอย่างหนักเป็นเวลานานไม่อาจไปแจ้ง ท้องที่ที่เด็กเกิดได้ทันเวลา ก็สามารถแจ้งแก่นายทะเบียนท้องที่อื่น ๆ ได้ แต่ ถ้ามีความจำเป็นและไม่อาจแจ้งได้ตามกำหนดเวลา ไม่ว่าจะแจ้ง ที่ท้องที่ที่เด็กเกิดหรือท้องที่อื่นก็ตาม ก็ให้แจ้งภายหลังได้ แต่ต้องไม่เกิน ๓๐ วันนับแต่วันที่เกิด
ตัวอย่าง หญิงตั้งครรภ์ และหลงเข้าไปในป่า ต่อมาคลอดลูก จะเห็น ได้ว่าหญิงหรือมารดาของเด็กไม่อาจจะแจ้งแก่นายทะเบียนท้องที่ที่เด็กเกิดหรือ ท้องที่ใด ๆ ที่สามารถจะแจ้งได้ในโอกาสแรกภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่เกิด เพราะยังคงอยู่ในป่า เมื่อผ่านไป ๒๐ วัน มารดาสามารถออกจากป่าได้แล้ว ดังนั้นวันที่อาจแจ้งได้ คือ วันที่มารดาออกจากป่า หรือจะแจ้งวันอื่นก็ได้ แต่ภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่เด็กเกิด
ข้อสังเกต การคลอดลูกในโรงพยาบาลถือว่า เป็นการเกิดนอกบ้าน ซึ่งตามข้อ ๒ ผู้มีหน้าที่แจ้ง คือ บิดาหรือมารดา แต่ในทางปฏิบัติทาง โรงพยาบาลจะจัดการเรื่องนี้เอง ซึ่งถือเป็นบริการของโรงพยาบาล โดยที่บิดาหรือมารดาไม่ต้องแจ้งแก่นายทะเบียนแต่อย่างใด
ในกรณีที่ผู้ใดพบเด็กเกิดใหม่ซึ่งถูกทิ้งไว้ ให้ผู้นั้นมีหน้าที่แจ้งต่อ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ประชาสงเคราะห์ในท้องที่ที่ผู้นั้นพบเด็กโดยเร็ว และเจ้าหน้าที่ดังกล่าวจะแจ้งว่ามีคนเกิดต่อนายทะเบียน ผู้รับแจ้งโทษ ผู้มีหน้าที่ดังกล่าวข้างต้นทั้งกรณีเด็กเกิดในบ้าน เด็กเกิดนอก บ้าน และผู้พบเด็กถูกทิ้ง ถ้าฝ่าฝืนไม่ทำตามหน้าที่ ย่อมมีความผิด อาจถูก ปรับได้ไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท
เมื่อแจ้งเด็กเกิดในบ้าน หรือนอกบ้านแล้ว นายทะเบียนจะออกสูติบัตร (ใบแจ้งเกิด) ให้แก่ผู้แจ้งไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งสูติบัตรจะแสดงสัญชาติ วัน เดือน ปีเกิด ชื่อบิดา มารดา อีกทั้งควรแจ้งชื่อของเด็กที่เกิดด้วย และถ้าประสงค์จะเปลี่ยนชื่อใหม่ ก็ให้แจ้งต่อนายทะเบียนภายใน ๖ เดือนนับ แต่เกิด
การศึกษา
ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเล่าเรียนของเยาวชนในชั้น ประถมคือ พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. ๒๕๒๓ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับ ที่ ๖
ในมาตรา ๖ ผู้ปกครองจะต้องส่งเด็กในความปกครองของตนเข้าเรียนในภาคบังคับ (ป.๑ - ป.๖) เมื่อเด็กอายุย่างเข้าปีที่แปด และต้องอยู่ใน โรงเรียนจนกว่าจะมีอายุย่างเข้าปีที่สิบห้า (๑๕ ปีบริบูรณ์) แต่ถ้าเด็กในปกครองสอบไล่ได้ชั้นประถมปีที่ ๖ ก็ไม่ต้องรอให้อายุครบ ๑๕ ปีบริบูรณ์ ก็ได้ ถือว่าจบและออกจากโรงเรียนได้ ถ้าผู้ปกครองไม่ปฏิบัติตามดังกล่าวนี้ จะต้องถูกปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (มาตรา ๑๐)
การนับอายุให้นับตามปีปฏิทิน (เช่น ด.ช. ก เกิด ๑ มกราคม ๒๕๒๕ จะมีอายุครบ ๑ ปีบริบูรณ์ เมื่อ ๑ มกราคม ๒๕๒๖) กล่าวคือนับวันเกิดชนวันเกิด
"ผู้ปกครอง" ตามกฎหมายหมายถึง
(๑) บิดามารดาที่อยู่ด้วยกันทั้งที่จดทะเบียนสมรส และไม่จด ทะเบียนสมรส (กฎหมายลักษณะผัวเมีย) กล่าวคือ เป็นบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายนั่นเอง
(๒) บิดาหรือมารดา
- การที่บิดามารดาหย่ากัน และบุตรอยู่ในความอุปการะของ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
- คู่สมรสแยกกันอยู่โดยมิได้หย่าขาดจากกัน และบุตรอยู่ใน ความอุปการะของบิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
(๓) บุคคลที่ดูแลเด็กที่อยู่รับใช้การงานในบ้านเรือนของตนเอง ถือ ว่าเป็นผู้ปกครองที่ถูกต้องตามกฎหมายและต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. นี้ด้วย
สำหรับนักเรียนที่เข้าโรงเรียนแล้ว ต้องไม่ขาดเรียนโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร โดยภายใน ๑ เดือนขาดเรียนได้ไม่เกิน ๗ วัน
คณะกรรมการการประถมศึกษาจังหวัด มีอำนาจกำหนดให้ผู้ปกครองของเด็กในท้องที่ใดในเขตจังหวัด ส่งเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา เมื่อเด็กมีอายุต่ำหรือสูงกว่าที่กำหนดไว้ได้
เด็กที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้าเรียนโดยผู้ปกครองร้องขอ ได้แก่
(๑) มีความบกพร่องในทางร่างกายและจิตใจ
(๒) เป็นโรคติดต่อตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
(๓) ต้องหาเลี้ยงผู้ปกครองซึ่งทุพพลภาพไม่มีหนทางเลี้ยงชีพ และ ไม่มีผู้อื่นเลี้ยงดูแทน
ถ้าผู้ปกครองที่ทุพพลภาพมีเด็กต้องส่งเข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาพร้อมกันหลายคนให้ยกเว้นเพียง ๑ คน
(๔) มีความจำเป็นอย่างอื่น
การทำบัตรประชาชน
กฎหมายกำหนดให้คนที่มีสัญชาติไทยซึ่งมีอายุครบ ๑๕ ปีบริบูรณ์ (ย่างเข้าอายุ ๑๕ ปีก็ขอยื่นทำบัตรประชาชนได้) แต่ไม่เกิน ๗๐ ปีบริบูรณ์ และมีชื่อในทะเบียนบ้าน ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน โดยยื่นคำขอทำบัตรประชาชนได้ที่ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอของท้องที่ที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่
การยื่นขอทำบัตรประชาชนต้องยื่นภายใน ๖๐ วันนับแต่วันที่อายุ ครบ ๑๕ ปีบริบูรณ์ เช่น ตัวอย่าง นาย ก เกิด ๑ มกราคม ๒๕๑๙ ครบ ๑๕ ปีบริบูรณ์ในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๔ นาย ก ต้องยื่นคำขออย่างช้า ภายในวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๓๔ มิฉะนั้น นาย ก จะต้องถูกปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท (การนับเวลา ๖๐ วันนี้นับเป็นวันๆ ไม่ใช่นับทีละ ๒ เดือน)
บัตรประชาชนมีอายุ ๖ ปี เมื่อบัตรหมดอายุให้ใช้บัตรนั้นต่อไปได้ จนถึงวันครบรอบวันเกิด เมื่อครบรอบวันเกิดแล้ว ภายใน ๖๐ วันนับแต่วัน ครบรอบวันเกิด ต้องไปขอเปลี่ยนบัตรใหม่ หากฝ่าฝืนถูกปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท เช่น ออกบัตรวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๐ บัตรหมดอายุ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๓๖ ต้องขอทำบัตรใหม่ภายในวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๓๗ เป็นต้น
กรณีคนต่างด้าว ต้องยื่นขอมีบัตรประชาชนภายใน ๖๐ วันนับแต่วันที่ได้สัญชาติไทย
เมื่อมีการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล ผู้ถือบัตรต้องขอเปลี่ยนบัตรภายใน ๖๐ วันนับแต่วันที่ได้รับให้เปลี่ยนชื่อตัว หรือสกุล ฝ่าฝืนถูกปรับไม่เกิน ๒๐๐ บาท
เมื่อบัตรสูญหายหรือถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ผู้ถือบัตรต้องขอเปลี่ยนบัตรภายใน ๖๐ วันนับแต่วันที่หาย ถูกทำลาย หรือชำรุด ฝ่าฝืนถูกปรับไม่เกิน ๒๐๐ บาท
ในกรณีพ้นจากสภาพการยกเว้นที่ไม่ต้องมีบัตรประชาชน ต้องขอมี บัตรประชาชน ภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันพ้นสภาพนั้นๆ เหตุยกเว้นที่ ไม่ต้องมีบัตรประชาชน ได้แก่
(๑) พระภิกษุ
(๒) ข้าราชการ ซึ่งได้แก่ ตำรวจ ทหาร
(๓) นักโทษ
การนับอายุเพื่อขอมีบัตรประชาชน ขอขยายเพิ่มเติมว่า ให้นับอายุ ๑ ปีบริบูรณ์เมื่อสิ้น พ.ศ. ที่เกิด เช่น ปี ๒๕๐๙ พอสิ้นปี ๒๕๐๙ ให้ถือว่า นับอายุได้ ๑ ปีบริบูรณ์
ดังนั้น สมมติว่า นาย ก เกิดปี ๒๕๐๙ จะต้องยื่นคำขอมีบัตร ประชาชน ในปี ๒๕๒๔ เพราะถือว่ามีอายุครบ ๑๕ ปีบริบูรณ์ การไปขอทำ บัตรประชาชนหลักฐานที่ต้องนำไป ได้แก่
(๑) ทะเบียนบ้าน
(๒) ใบสูติบัตร
(๓) หนังสือสำคัญการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุลทั้งของตนเองและของ บิดามารดา (ถ้ามี)
(๔) ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว (ถ้ามี)
กรณีที่เป็นบุคคลสัญชาติไทย แต่เสียสัญชาติไทย ผู้นั้นต้องมีหน้าที่ส่งมอบบัตรประจำตัว ให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ตนมีทะเบียนบ้านภายใน ๖๐ วัน ถ้าฝ่าฝืนไม่ส่งมอบต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับ ตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ถ้าบุคคลที่เสียสัญชาติไทยดังกล่าวนำบัตรประจำตัวไปใช้ หรือใบรับ หรือใบแทนใบรับไปใช้โดยไม่มีสิทธิ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
การมีบัตรประจำตัวประชาชนนั้นมีความสำคัญ จึงต้องนำติดตัวไป ทั้งนี้เพราะเมื่อเจ้าพนักงานตรวจบัตร ขอดู ถ้าผู้นั้นไม่อาจแสดงบัตรหรือ ใบรับ หรือใบแทนใบรับ (กรณีขอทำบัตรใหม่) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน สองร้อยบาท
นอกจากนี้ การขอมีบัตรประจำตัวประชาชน ต้องแจ้งข้อความจริงต่อเจ้าพนักงาน ถ้าแจ้งข้อความอันเป็นเท็จไม่ว่าจะเป็นการขอมีบัตรใหม่ หรือเปลี่ยนบัตร ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในบางกรณีมีคนนำบัตรประจำตัวของผู้อื่นไปใช้เพื่อประโยชน์ในทางมิชอบ กฎหมายกำหนดโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนและปรับไม่เกิน หนึ่งหมื่นบาท
ส่วนการปลอมบัตรประชาชน กฎหมายถือว่าเป็นความผิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การใช้บัตรประชาชนปลอมก็มีโทษเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการปราบปรามขบวนการปลอมบัตรประจำตัวให้แก่คนต่างด้าว ซึ่งเจ้าพนักงานมีส่วนร่วมด้วย กฎหมายจึงกำหนดโทษ เจ้าพนักงานชาวไทย (ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ออกบัตรหรือไม่) ถ้าเป็นผู้ปลอมบัตรหรือใช้บัตรปลอม (หรือเป็นผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึง สามแสนบาท แต่ถ้าผู้กระทำผิดดังกล่าวเป็นคนต่างด้าว ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสามแสนบาท
ค่าธรรมเนียมในการขอออกบัตรใหม่ หรือเปลี่ยนบัตร ฉบับละ ๒๐ บาท
การตาย
คนเราทุกคนเกิดมาต้องตายด้วยกันทุกคน ผิดกันอยู่แต่ว่าจะตายช้าหรือตายเร็ว เท่านั้น แต่ก่อนนี้ปัญหาที่ว่าตายเมื่อใดนั้น ไม่สู้จะมีปัญหาแต่อย่างใด เพราะเมื่อหัวใจหยุดเต้นและไม่หายใจแล้ว ก็ถือว่าคนคนนั้นตายแล้ว แต่ปรากฎว่าในปัจจุบันนี้ความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์มีมากขึ้น หัวใจที่หยุดเต้นแล้วก็อาจทำให้เต้นใหม่อีกได้ โดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เข้าช่วย หรือการหายใจที่หยุดแล้ว ก็อาจทำให้หายใจได้ใหม่อีกได้ เหล่านี้เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ปัญหาที่ว่าคนเราตายเมื่อไรนั้นจึงเริ่มมีปัญหามากขึ้น หลักการเดิมที่ว่า คนเราตายเมื่อหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้นจึงยังไม่เพียงพอ ยังจะต้องอาศัยหลักการอื่น ๆ อีก ในเรื่องนี้มีความเห็นของนักวิชาการท่านหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นความคิดเห็นที่น่าจะถูกต้อง ท่านได้ให้ความเห็นในเรื่องที่ว่าคนเราตายเมื่อใดนั้นไว้ดังนี้คือ การที่จะพิจารณาว่าคนเราตายเมื่อใดนั้น ให้ดูการทำงานของร่างกาย ๓ ส่วนคือ สมอง หัวใจ และการหายใจ กล่าวคือ สมองหยุดทำงาน โดยตรวจด้วยการวัดคลื่นสมอง หัวใจหยุดเต้น และหายใจเองไม่ได้ ทั้ง ๓ ประการนี้ ประกอบกันจึงจะถือว่าคนคนนั้นได้ตายแล้ว เราจะรู้กันไปทำไมว่า คนเราตายเมื่อใด
เมื่อคนคนหนึ่งตายไปแล้วนั้น มรดกของเขาย่อมตกไปยังลูกหลาน พ่อแม่ พี่น้อง ซึ่งในทางกฎหมายเราเรียกบุคคลที่ตายนั้นว่า "เจ้ามรดก" ส่วนลูกหลาน พ่อแม่ พี่น้อง ที่รับมรดกมานั้น เราเรียกว่า "ทายาท" สำหรับในเรื่องการรับมรดกนั้นมีหลักอยู่ว่าทายาทที่มีสิทธิจะรับมรดกได้นั้น จะต้องเป็นบุคคลที่มีชีวิตอยู่ในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย กล่าวคือทายาทคนใดตายก่อนเจ้ามรดกแล้ว เขาก็จะไม่มีสิทธิที่จะรับมรดกจากเจ้ามรดก ดังนั้นปัญหาในเรื่องที่ว่า ตายเมื่อใดนั้นจึงมีความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะว่าถ้าทายาทคนใดตายหลังเจ้ามรดกแม้เพียง ๕ นาที เขาก็จะมีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดก
การแจ้งตาย
ในกรณีที่มีคนตายเกิดขึ้น กฎหมายได้กำหนดหน้าที่ให้บุคคลต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีหน้าที่แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ในท้องที่ที่มีการตายเกิดขึ้น คือ กรณีคนตายในบ้าน เจ้าบ้านต้องแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ ที่มีการตายเกิดขึ้น ภายใน ๒๔ ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ตาย แต่ถ้าไม่มีเจ้าบ้านให้ผู้พบศพเป็นผู้แจ้ง
ตัวอย่าง นายดำบิดาของนายแดงได้ถึงแก่ความตายด้วยโรคชราในบ้าน ดังนี้เราก็ต้องดูว่าใครเป็นเจ้าบ้าน ถ้านายแดงเป็นเจ้าบ้าน นายแดงก็มีหน้าที่ต้องแจ้ง แต่ถ้าบิดานายแดงเป็นเจ้าบ้าน ก็เป็นกรณีของการที่ไม่มีเจ้าบ้าน ดังนั้น ถ้าแดงเป็นผู้พบศพ แดงก็ต้องเป็นผู้มีหน้าที่แจ้งการตายของนายดำ ต่อนายทะเบียนท้องที่
กรณีคนตายนอกบ้าน ให้ผู้ที่ไปกับผู้ตายหรือผู้พบศพแจ้งต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ ที่มีการตายเกิดขึ้น หรือท้องที่ที่พบศพ หรือท้องที่ที่พึงจะแจ้งได้ในโอกาสแรก ภายใน ๒๔ ชั่วโมง หรือจะแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่สะดวกกว่าก็ได้
ตัวอย่าง นายแดงกับนายขาวเดินทางไปเที่ยวเขาใหญ่ จังหวัดนครนายกด้วยกัน ปรากฏว่านายขาวเป็นไข้ป่าตาย ในกรณีนี้นายแดงเป็นผู้ที่ไปด้วยกับนายขาวผู้ตาย ดังนั้น นายแดงจึงเป็นผู้มีหน้าที่ต้องแจ้งการตาย โดยแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่จังหวัดนครนายก หรือจะแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่เขาใหญ่ซึ่งสะดวกกว่าก็ได้
ลูกตายในท้อง
ลูกตายในท้อง หมายถึง ลูกที่อยู่ในครรภ์มารดาเป็นเวลาเกิน ๒๘ สัปดาห์ และคลอดออกมาโดยไม่มีชีวิต ดังนั้น ถ้าลูกนั้นอยู่ในครรภ์มารดาไม่ถึง ๒๘ สัปดาห์ แม้จะคลอดออกมาโดยไม่มีชีวิต ก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องของลูกตายในท้อง
ผู้ที่มีหน้าที่ในการแจ้ง กรณีที่มีลูกตายในท้องดังนี้ คือ (เด็กที่อยู่ในครรภ์มารดา เกิน ๒๘ สัปดาห์หรือเกิน ๑๙๖ วัน) ถ้าลูกตายในท้องเกิดขึ้นในบ้าน ให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนภายใน ๒๔ ชั่วโมงนับแต่เวลาคลอด นายทะเบียนก็จะออกบัตรลูกตายในท้องไว้เป็นหลักฐาน
ถ้าลูกตายในท้องเกิดขึ้นนอกบ้าน ให้มารดาแจ้งต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่ ลูกตายในท้องนั้น หรือแจ้งต่อท้องที่ที่อาจแจ้งได้ในโอกาสแรกภายใน ๒๔ ชั่วโมงแต่เวลาคลอด หรือจะแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่สะดวกกว่าก็ได้ กรณีที่มีการตายเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการตายในบ้านหรือนอกบ้านก็ตาม เมื่อผู้มีหน้าที่ต้องแจ้งได้ไปแจ้งการตายต่อเจ้าหน้าที่ผู้รับแจ้งแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะออกสารที่เราเรียกว่า มรณะบัตรให้ ซึ่งมรณะบัตรนี้ก็คือเอกสารแสดงถึงการตายของบุคคลที่นายทะเบียนผู้รับแจ้ง การตายออกให้แก่ผู้แจ้งเพื่อนำไปแสดงต่อผู้เกี่ยวข้องนำไปจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตาย เป็นต้น
โทษ สำหรับผู้ที่มีหน้าที่ที่จะต้องแจ้งการตาย แต่ฝ่าฝืนไม่แจ้งภายในระยะ เวลาที่กฎหมายกำหนดอาจจะถูกปรับไม่เกิน ๒๐๐ บาท